เมื่อวันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2564 โครงการ SATREPS DREAM (AREA-BCM) ได้จัดการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาครั้งที่ 4 (the 4th Joint Coordinating Committee meeting: 4th JCC) เพื่อนำเสนอรายงานความก้าวหน้าและเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและไทย ผ่านทางช่องทางออนไลน์ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมและเป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม ร่วมกับนายโมริตะ ทาคาฮิโร หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ประจำประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 80 คนจากหน่วยงานราชการ องค์กรวิจัยและสถาบันการศึกษาอันมีชื่อเสียงของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งหมด 25 แห่ง
ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ และ นายโมริตะ ทาคาฮิโร หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและกลยุทธ์การจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ โดยมีความเห็นตรงกันว่าโครงการ SATREPS DREAM (AREA-BCM) เป็นโครงการที่สามารถนำไปต่อยอด ปรับใช้ในสถานการณ์ที่เกิดการหยุดชะงักทางธุรกิจ อันเนื่องมาจากการประสบกับความเสี่ยงด้านต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุภัทรา วิเศษศรี อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการประชุม ได้กล่าวแนะนำภาพรวม โครงสร้าง และการทำงานของโครงการ ฯ รวมถึงแนะนำสมาชิกโครงการ ฯ และองค์กรที่เข้าร่วมประชุมจากประเทศไทย ในขณะที่ ดร.ยูโกะ อิวาซากิ จากสถาบันเทคโนโลยีนาโกย่า ได้กล่าวแนะนำแนะนำสมาชิกโครงการ ฯ และองค์กรที่เข้าร่วมประชุมจากประเทศญี่ปุ่น
ลำดับถัดไป ศาสตราจารย์ ดร. เคนจิ วาตานะเบะ หัวหน้านักวิจัยโครงการ ฯ ได้นำเสนอภาพรวมและความคืบหน้าของงานวิจัยในโครงการ ภายใต้สถานการณ์โควิด 19 โดยได้มีการจ้างบริษัทภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูล ซึ่งได้มีการดำเนินงานตามแผนของปีงบประมาณถัดไปแล้วบางส่วนและมีงานบางส่วนมีการดำเนินงานล่าช้าจากกำหนดที่ตั้งไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร. เคนจิ วาตานะเบะ กล่าวว่า ทางโครงการฯ พยายามที่จะไม่นำสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นข้อกล่าวอ้างของการดำเนินงานที่ล่าช้าและพร้อมน้อมรับข้อเสนอแนะเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
หลังจากนั้น ได้มีการนำเสนอความก้าวหน้าและแผนการดำเนินงานในแต่ละสาขาวิจัย ดังต่อไปนี้
1. การวิเคราะห์ความเสี่ยงจากน้ำ นำเสนอโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับดร. มาโมรุ มิยาโมโต นักวิจัยของศูนย์จัดการอุทกภัยและบริหารความเสี่ยงระหว่างประเทศ (ICHARM)
2. การวิจัยด้านชุมชน นำเสนอโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัตติยา ภูละออ รองคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ดร.สุดปรารถนา ดวงแก้ว อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.คาวาซากิ อากิยูกิ อาจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียว
3. การวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ นำเสนอโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ดร.มิซุมิ เรียวเฮ นักวิจัยของสถาบันศึกษาวิจัยธรณีวิทยาเเละบรรเทาเหตุภัยพิบัติของญี่ปุ่น (NIED)
4. การศึกษาการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ นำเสนอโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และอาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ผู้ช่วยโครงการฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อะกิระ โคดากะ อาจารย์มหาวิทยาลัยเคโอะ
โดยสรุปแล้ว โครงการ ฯ มีความก้าวหน้าเป็นไปตามแผนการดำเนินงานและกรอบกลยุทธ์ที่วางไว้ มีการเก็บข้อมูล การสัมภาษณ์เชิงลึกกับบริษัทผู้ประกอบการ การสร้างแบบจำลอง รวมถึงการกระจายและบูรณาการความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาเครื่องมือการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ต่อไปในอนาคต โดยในช่วงท้าย ศาสตราจารย์ ดร. เคนจิ วาตานะเบะ หัวหน้านักวิจัยโครงการ ฯ ได้ชี้แจงว่า ทางโครงการฯ กำลังจะเข้าสู้ช่วงครึ่งหลังตามระยะเวลาการดำเนินงาน ซึ่งคาดว่าในช่วงต้นปีหน้า รายละเอียดของเครื่องมือจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่จะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
ในช่วงสุดท้าย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัตติยา ภูละออ ได้กล่าวปิดงานโดยกล่าวถึงจุดมุ่งหมายการทำงานของโครงการ ฯ คือการสร้างความสามารถในการฟื้นตัวหลังประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติและเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งแสดงความชื่นชมและขอบคุณคณะทำงานทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ ฯ นี้
การประชุมในครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จด้วยดี ถึงแม้จะเป็นการประชุมผ่านช่องทางออนไลน์เนื่องจากข้อจำกัดของสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ทั้งนี้ สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษา (Joint Coordinating Committee: JCC member) จากทุกหน่วยงาน มุ่งหวังว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานร่วมกับโครงการฯ เพื่อให้การดำเนินโครงการ SATREPS DREAM (AREA-BCM) นี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
เขียนโดย นางสาวเพียงอินท์ บุณยประสิทธิ์
ตรวจโดย นายกุลชาติ ประทุมชัย