การประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ครั้งที่ 7

Browse By

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่  9 ธันวาคม  พ.ศ.2564 โครงการ SATREPS DREAM (AREA-BCM) ได้จัดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ครั้งที่ 7 เพื่อรายงานความก้าวหน้าและกำหนดแผนการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2564 – 2565 ของคณะทำงานวิจัยโครงการฯ เฉพาะฝ่ายไทย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นคณะทำงานวิจัยของโครงการฯ ผู้แทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานคณะทำงานร่วมกับโครงการ ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมกรรมการคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้น 2 อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom   โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. เกษม ชูจารุกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมและเป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม โดยท่านรองคณบดีได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม และเน้นย้ำที่เห็นความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐและเอกชนกับโครงการฯ ในการร่วมกันสร้างมาตรฐานการจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมและยกระดับให้เป็นมาตรฐานสากล (ISO/TC292) อันจะช่วยลดความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและก่อให้เกิดการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ในลำดับถัดมา ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมทุกภาคส่วนและกล่าวถึงการใช้ประโยชน์เพื่อรับมือภัยพิบัติหลายประเภทด้วยชุดเครื่องมือที่ทางโครงการ ฯ กำลังพัฒนา รวมถึงชี้ว่าโครงการ ฯ นี้ เป็นโครงการนำร่องในการประสานความร่วมมือและองค์ความรู้ระหว่างสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และประชากรศาสตร์ เพื่อวางแผนเฝ้าระวังและรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินซึ่งสามารถใช้จัดการทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติและอุบัติภัยในอนาคต

หลังจากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ ผู้ดำเนินการประชุม ได้บรรยายภาพรวมการดำเนินงาน โครงสร้าง แผนผังเครือข่ายความร่วมมือของโครงการฯ ตลอดจนรายชื่อคณะนักวิจัยที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขล่าสุดและเปิดวีดิทัศน์แนะนำโครงการโดยสังเขป จากนั้นจึงมีการนำเสนอความก้าวหน้าและแผนการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มวิจัย ซึ่งประกอบด้วย

  1. การวิเคราะห์ความเสี่ยงจากน้ำ นำเสนอโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์
  2. การวิจัยด้านชุมชน นำเสนอโดย ดร.ทาดาชิ นากาสึ
  3. การวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ นำเสนอโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล
  4. การศึกษาการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ นำเสนอโดย ดร.จิง ถาง

ในช่วงต่อมา มีการเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากองค์กรต่าง ๆ แสดงความคิดเห็น แบ่งปันความรู้ และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานของโครงการฯ เริ่มต้นด้วยคุณอารีรัตน์ วิจิตรพัชรผล และคุณพรรณเพ็ญ วงศ์วัฒนะ นักวิเทศสัมพันธ์ปฏิบัติการจากสำนักวิจัยและความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้แสดงความสนใจต่อแบบจำลองการพยากรณ์อุทกภัย ชุดเครื่องมือที่ทางโครงการ ฯ กำลังพัฒนาและการปรับใช้แนวทางการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจและแผนดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องกับองค์กรภาครัฐ

ส่วนผู้แทนจากกรมชลประทาน คุณสันติ เต็มเอี่ยม ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ได้แสดงความคิดเห็นว่าหากแบบจำลองการพยากรณ์อุทกภัยล่วงหน้าเจ็ดวันได้รับการพัฒนาจนสำเร็จ จะเป็นการช่วยเสริมการบริการจัดการน้ำได้ในอนาคต จากนั้น ท่านผู้อำนวยการได้นำเสนอข้อมูลโดยรวมเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและแง่มุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริการจัดการน้ำในประเทศไทย

จากนั้น ผู้แทนจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คุณธีรวุฒิ เจริญสุข ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา กล่าวว่าแบบจำลองการพยากรณ์อุทกภัยล่วงหน้าเจ็ดวันของทางโครงการ ฯ มีความคืบหน้าเป็นลำดับ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อได้รับการพัฒนาจนแล้วเสร็จและหวังว่าจะสามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบการเตือนภัยของ กนอ. เพื่อทำให้การแจ้งเตือนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยท่านผู้อำนวยการยินดีที่จะในการให้ความอนุเคราะห์ช่วยประสานงานกับบริษัทในเขตนิคมอุตสาหกรรม หากทางโครงการ ฯ ต้องการเก็บข้อมูลตัวอย่างในพื้นที่ในการดูแลของ กนอ.เพิ่มเติม

ในช่วงสุดท้าย ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวปิดงานโดยได้กล่าวขอบคุณและชื่นชมคณะทำงานของโครงการฯ สำหรับความทุ่มเทในการดำเนินงานให้บรรลุตามภารกิจของโครงการฯ รวมถึงการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการแบ่งปันข้อมูลและการกำหนดแนวทางทำงานร่วมกัน และขอขอบคุณองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) สำหรับการสนับสนุนโครงการ ฯ ด้วยดีมาโดยตลอด

เขียนโดย นายกุลชาติ ประทุมชัยและนางสาวเพียงอินท์ บุณยประสิทธิ์
ตรวจโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์