เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565 โครงการ SATREPS DREAM (AREA-BCM) ได้จัดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ครั้งที่ 7 ณ ห้องประชุมกรรมการคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้น 2 อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีรูปแบบผสมผสานทั้งออฟไลน์และออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom การประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ครั้งที่ 7 จัดขึ้นเพื่อเพื่อรายงานความก้าวหน้าและกำหนดแผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก พ.ศ. 2565 ของคณะทำงานวิจัยโครงการฯ เฉพาะฝ่ายไทย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในผู้อำนวยการโครงการฯ ได้ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมและเป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม นอกจากนี้ยังได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรภาคส่วนอื่น ๆ ดังนี้ คือ คุณธนกฤต โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และ คุณจามรี แย้มกลิ่นฟุ้ง เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ทั้งนี้ ศ.ดร.สุพจน์ ได้กล่าวชื่นชมในความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐและเอกชนกับโครงการฯ ภายใต้สภานการณ์โควิด 19 และยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างพื้นที่แผนบริหารความเสี่ยงเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน (Area BCM) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมพลังสำคัญจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ
หลังจากนั้น คุณกุลชาติ ประทุมชัย ผู้ช่วยโครงการฯ ในฐานะผู้ดำเนินการประชุม ได้บรรยายภาพรวมการดำเนินงาน โครงสร้าง แผนผังเครือข่ายความร่วมมือของโครงการฯ ตลอดจนรายชื่อคณะนักวิจัยที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขล่าสุด จากนั้นจึงมีการนำเสนอความก้าวหน้าและแผนการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มวิจัย ซึ่งประกอบด้วย
- การวิเคราะห์ความเสี่ยงจากน้ำ นำเสนอโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์
- การวิจัยด้านชุมชน นำเสนอโดย ดร.จุฑาภรณ์ อัมระปาล
- การวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ นำเสนอโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล
- การศึกษาการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ นำเสนอโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์
ลำดับถัดมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ ได้นำเสนอแผนนำเสนอสำหรับการต่ออายุของโครงการฯ โดยเกริ่นนำถึงสถานการณ์โควิด 19 ที่ส่งผลสำคัญในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้โครงการฯ ไม่สามารถดำเนินงานเป็นไปตามกรอบกำหนด แผนนำเสนอต่ออายุโครงการจะมีระยะเวลาเพิ่มอีกหนึ่งปี จนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 โดยจะไม่มีการแก้ไขแผนปฏิบัติงานโครงการแบบแมททริกซ์ (PDM) ที่ได้วางไว้แต่ต้น แต่จะมีการแก้ไขกำหนดการกิจกรรมในแผนปฏิบัติการ (PO) ให้สอดคล้องกับกิจกรรมแต่ละกลุ่มวิจัย ทั้งนี้ กิจกรรมการดำเนินงานสำหรับช่วงต่ออายุโครงการจะเน้นไปที่การเสริมสร้างขีดความสามารถร่วมกับนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ โดยผ่านการจัดกิจกรรมปฏิบัติการ หลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอ สมาชิกในที่ประชุมทุกท่านเห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว คุณโยชิอากิ มิอุระ ผู้ประสานงานโครงการฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนลำดับถัดไป โดยการนำวาระนี้เข้าสู่การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาครั้งที่ 5 ที่จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565
สุดท้ายนี้ ศาสตราจารย์ ดร. วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดี วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหนึ่งในผู้อำนวยการโครงการฯ ได้กล่าวปิดการประชุมนครั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. วิพรรณได้กล่าวขอบคุณต่อนักวิจัย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกท่านและองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ สำหรับความร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนงานภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ที่ส่งผลสำคัญวงกว้างไปทั่วโลก ถึงแม้ว่าโครงการฯ จะประสบอุปสรรคใหญ่ แต่ความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนได้ทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. วิพรรณ ได้เน้นย้ำความสำคัญถึงผลดีในการต่ออายุโครงการ โดยเชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้โครงการฯ สามารถดำเนินงานไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในอนาคต