การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาครั้งที่ 4 โครงการ SATREPS DREAM (AREA-BCM)

Browse By

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 10 สิงหาคม 2565 โครงการ SATREPS DREAM (AREA-BCM) ได้จัดการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาครั้งที่ 5 ณ ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีรูปแบบผสมผสานทั้งออฟไลน์และออนไลน์ การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาครั้งที่ 5 นี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอรายงานความก้าวหน้าและเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและไทยในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษายังได้มีการนำเสนอวาระสำคัญ คือการต่ออายุโครงการฯ โดยมีแผนต่ออายุเพิ่มอีกหนึ่งปี การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม จำนวน 60 ท่านทั้งนักวิจัย เจ้าหน้าที่จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งจากประเทศไทยและญี่ปุ่น

การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาได้เริ่มขึ้น โดยศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณคาวาเบะ โยอิจิ ผู้แทนอาวุโสองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุม ตลอดจนกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมตามลำดับ ทั้งนี้ ทั้งสองท่านได้กล่าวชื่นชมในความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐและเอกชนกับโครงการฯ ภายใต้สภานการณ์โควิด 19 และยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างพื้นที่แผนบริหารความเสี่ยงเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน (Area BCM) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมพลังสำคัญจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ

 

ลำดับถัดมา ศาสตราจารย์เคนจิ วาตานาเบะ แห่งสถาบันเทคโนโลยีนาโกย่า และหัวหน้านักวิจัยโครงการฯ ได้นำเสนอภาพรวมและความคืบหน้าของงานวิจัยในโครงการซึ่งมีความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอ อย่าไรก็ตาม ศ.เคนจิได้นำเสนอแผนการต่ออายุโครงการฯ เป็นระยะเวลาหนึ่งปีหลังจากสิ้นสุดระยะเวลากรอบโครงการเดิมในช่วงกลางปี พ.ศ. 2566 เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการจนบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่ได้ตั้งไว้ จากที่โครงการฯ ประสบอุปสรรคการดำเนินงานในช่วงสถานการณ์โควิด 19 หลังจากการนำเสนอ ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นสนับสนุนในประเด็นการนำเสนอดังกล่าว

 

จากนั้น ดร.อากิระ โคดากะ แห่งมหาวิทยาลัยเคโอ ในฐานะผู้ดำเนินการประชุม ได้บรรยายภาพรวมการดำเนินงาน โครงสร้างและแผนผังเครือข่ายความร่วมมือของโครงการฯ ตลอดจนรายชื่อคณะนักวิจัยที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขล่าสุด ถัดมาจึงมีการนำเสนอความก้าวหน้าและแผนการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มวิจัย ซึ่งประกอบด้วย

  1. การวิเคราะห์ความเสี่ยงจากน้ำ นำเสนอโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ และ ดร.ไดกิ คากินุมะ จากสถาบัน The International Centre for Water Hazard (ICHARM)
  2. การวิจัยด้านชุมชน นำเสนอโดย ดร.จุฑาภรณ์ อัมระปาล
  3. การวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ นำเสนอโดย ดร.ซุซุกิ ชินโกะ
  4. การศึกษาการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ นำเสนอโดย ดร.อากิระ โคดากะ

 

หลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอ ดร.อิวาซากิ ยูโกะ ได้สรุปข้อมูลภาพรวมของโครงการฯ ทั้งในส่วนการจัดการบริหารโครงการ รวมถึงกิจกรรมและผลงานของโครงการ ผู้เข้าประชุมทุกท่านเห็นพ้องในการดำเนินโครงการฯ ในนำลับถัดไปทางโครงการฯ จะดำเนินการด้านเอกสารเพื่อให้ประธานโครงการทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นร่วมลงนามรับรองการประชุม

 

สุดท้ายนี้ ศาสตราจารย์ ดร. วิพรรณ ในฐานะหนึ่งในผู้อำนวยการโครงการฯ ได้กล่าวปิดการประชุมนครั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. วิพรรณได้กล่าวขอบคุณต่อนักวิจัย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกท่านและองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ สำหรับความร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนงานภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ที่ส่งผลสำคัญวงกว้างไปทั่วโลก ถึงแม้ว่าโครงการฯ จะประสบอุปสรรคใหญ่ในครั้งนี้ แต่ความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนได้ทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ ได้เน้นย้ำความสำคัญถึงผลดีในการต่ออายุโครงการ โดยเชื่อว่าจะทำให้โครงการฯ สามารถดำเนินงานไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในอนาคต

 

โดย พงศ์นรินทร์ สุขแจ่ม