เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2566 โครงการ SATREPS Area – BCM ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ สนับสนุนโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) โดยความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการบริหารความเสี่ยงและการจัดการภัยพิบัติ ตลอดจนการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ โดยมีอาจารย์ ตลอดจนนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทั้งจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น กิจกรรมนี้จัดขึ้นแก่บริษัทต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม จากนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ 6 แห่ง ดังนี้
- Pioneer
- KIAC
- H-One Part
- Nippon Steel Thai Sumilox
- Hane Package
- Kikuchi Narrow fabric
และนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค 1 แห่ง
- MMC Tools Thailand
กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดงานโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมถ่ายภาพหมู่แล้ว จึงเริ่มการประชุมเชิงปฏิบัติการตามลำดับดังนี้
กิจกรรมจำลองสถานการณ์การจัดการและการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ นำเสนอโดย Mr. Katsumi Kurita และ Mr. Shigeo Otani จาก the Fujitsu Research Institute โดยผู้เข้าร่วมประชุมจะร่วมกันประชุมและวางแผนต่าง ๆ เช่นโครงการพื้นฐานด้านการขนส่ง การรับมือสถานการณ์วิกฤตของแต่ละองค์กร กิจกรรมนี้มุ่งหวังให้่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เพิ่มพูนความสามารถในการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ ตลอดจนสร้างความแข็งแข็งในการสร้างระบบการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่
กิจกรรมลำดับถัดมาคือการอบรมเนื้อหาการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ นำเสนอโดยคุณกันต์ฤทัย มีช้าง นักศึกษาปริญญาเอกจากสถาบัน Nagoya Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น โดยกิจกรรมนี้มุ่งหวังเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ ตลอดจนตั้งแต่การตรวจสอบและค้นหาประเด็น รวมถึงมาตรการสำหรับความร่วมมือในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเพื่อที่สามารถจัดทำแผนดำเนินความต่อเนื่องทางธุรกิจทั้งในระดับองค์กร นิคมอุตสาหกรรม และระดับภาครัฐ นอกจากนี้ Prof. Kenji Watanabe จาก สถาบัน Nagoya Institute of Technology ยังได้นำเสนอเกี่ยวกับ “Common Timeline” คือการสร้างกรอบเวลาจัดเรียงสำหรับการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน และการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจขององค์กร ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้อยู่บนฐานหรือตารางเวลาเดียวกัน เพื่อสร้างการจัดการพึ่งพาอาศัย การปฏิบัติงานตลอดจนความร่วมมือร่วมกัน หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม คุณกันต์ฤทัยได้นำเสนอกรณีศึกษาของนิคมอุตสาหกรรม Akemi และนิคมอุตสาหกรม Kani ที่ประเทศญี่ปุ่น ในการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เห็นภาพการดำเนินกิจกรรมมากขึ้น
หลังจากกิจกรรมบรรยายการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่เสร็จสิ้น รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ “Area-BCM Toolkit Walkthrough” โดยเป็นการนำเสนอเครื่องมือในรูปแบบเว็บไซต์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถเรียนรู้การจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ ตลอดจนองค์ประกอบต่าง ๆ ของเครื่องมือ อาทิ การจัดการผู้ใช้งาน ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลในช่วงกรอบเวลา เครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ หารสังเกตการณ์น้ำท่วม และแหล่งความรู้อ้างอิงสำหรับการดำเนินการแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันตอบแบบสอบถามของทางโครงการ โดยผลที่ได้จากแบบสอบถามนี้จะนำไปปรับปรุงการจัดกิจกรรมให้ดียิ่งขึ้น
หลังเสร็จสิ้นทุกกิจกรรม Prof. Kenji Watanabe ได้กล่าวปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับครั้งนี้ ตลอดจนกล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมกิจกรรมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน การประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นแรกสำหรับบริษัทต่าง ๆ จากนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาทั้งในไทยและญี่ปุ่นได้มีโอกาสร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอน รวมถึงการบริหารความเสี่ยงและการจัดการภัยพิบัติ ตลอดจนการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ โครงการ SATREPS Area – BCM หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
เรื่อง โดย พงศ์นรินทร์ สุขแจ่ม
ภาพ โดย Prof. Masahiro Inoue และ เพ็ญพิชชา อารยชูเกียรติ