เมื่อวันอังคารที่ 19 กันยายน 2566 โครงการ SATREPS Area – BCM ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ สนับสนุนโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) โดยความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการบริหารความเสี่ยงและการจัดการภัยพิบัติ ตลอดจนการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ โดยมีอาจารย์ ตลอดจนนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทั้งจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น กิจกรรมนี้จัดขึ้นแก่บริษัทต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 22 ท่าน
คุณพีรดา ตั้งประเสริฐ นิสิตปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย รับหน้าที่เป็นพิธีกรในครั้งนี้ กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดงานโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมถ่ายภาพหมู่แล้ว จึงเริ่มการประชุมเชิงปฏิบัติการตามลำดับดังนี้
กิจกรรมจำลองสถานการณ์การจัดการและการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ นำเสนอโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ และคุณเพ็ญพิชชา อารยชูเกียรติ นิสิตและผู้ช่วยนักวิจัยหลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณณภัทร มหิทธิกุล นิสิตและผู้ช่วยนักวิจัยภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ โดยผู้เข้าร่วมประชุมจะร่วมกันประชุมและวางแผนต่าง ๆ เช่นโครงการพื้นฐานด้านการขนส่ง การรับมือสถานการณ์วิกฤตของแต่ละองค์กร โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ศึกษาข้อมูลจากเครื่องมือการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Area – BCM toolkit) และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วางแผนการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจร่วมกัน กิจกรรมนี้มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เพิ่มพูนความสามารถในการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ ตลอดจนสร้างความแข็งแข็งในการสร้างระบบการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่
สถานการณ์จำลองการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจในระดับพื้นที่
กิจกรรมลำดับถัดมาคือการอบรมเนื้อหาการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ นำเสนอโดย ดร. กันต์ฤทัย มีช้าง จากสถาบัน Nagoya Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น โดยกิจกรรมนี้จัดในรูปแบบออนไลน์ มุ่งหวังเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ ตลอดจนตั้งแต่การตรวจสอบและค้นหาประเด็น รวมถึงมาตรการสำหรับความร่วมมือในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเพื่อที่สามารถจัดทำแผนดำเนินความต่อเนื่องทางธุรกิจทั้งในระดับองค์กร นิคมอุตสาหกรรม และระดับภาครัฐ
นอกจากนี้ Prof. Kenji Watanabe จากสถาบัน Nagoya Institute of Technology และในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ได้นำเสนอสรุปบทเรียนสำคัญของการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ โดยยกตัวอย่างจากพื้นที่ตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งช่วยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เห็นภาพการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยมีคุณกำพล แสงทับทิม นิสิตและผู้ช่วยนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ติดตามการแปล
กิจกรรมที่ 2: ระดมความคิดการวางแผนการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจในระดับพื้นที่
หลังจากกิจกรรมบรรยายการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่เสร็จสิ้น รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ “Area-BCM Toolkit Walkthrough” โดยเป็นการนำเสนอเครื่องมือในรูปแบบเว็บไซต์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถเรียนรู้การจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ ตลอดจนองค์ประกอบต่าง ๆ ของเครื่องมือ อาทิ การจัดการผู้ใช้งาน ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลในช่วงกรอบเวลา เครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ ตลอดจนแหล่งความรู้อ้างอิงสำหรับการดำเนินการแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ
ถัดมา คุณพงษ์สิทธิ์ ผลสมบูรณ์ นิสิตปริญญาเอก และผู้ช่วยนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรยายเกี่ยวกับข้อมูลการสังเกตการณ์น้ำท่วม รวมถึงโปรแกรมการพยากรณ์น้ำท่วมระยะใกล้ (Near Real Time Forecasting) ซึ่งกิจกรรมนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้บรรยาย และหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันตอบแบบสอบถามของทางโครงการ โดยผลที่ได้จากแบบสอบถามนี้จะนำไปปรับปรุงการจัดกิจกรรมให้ดียิ่งขึ้น
ในส่วนของการวิเคราะห์ผลกระทบมางธุรกิจ โดย Mr. Suzuki Shingo จาก Japan National Research Institute for Earth Science and Disaster Resilience (NIED) ได้บรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับผลกระทบทางธุรกิจจากสถานการณ์น้ำท่วมในระดับต่าง ๆ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการเตรียมตัวด้านการจัดการการขนส่ง ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างร่วมแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลร่วมกัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์สำคัญทั้งต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมและนักวิจัยเพื่อนำไปพัฒนาแนวทางการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น
หลังเสร็จสิ้นทุกกิจกรรม Prof. Kenji Watanabe ได้กล่าวปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับครั้งนี้ ตลอดจนกล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมกิจกรรมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน การประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นแรกสำหรับบริษัทต่าง ๆ จากนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาทั้งในไทยและญี่ปุ่น ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอน รวมถึงการบริหารความเสี่ยงและการจัดการภัยพิบัติ ตลอดจนการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ โครงการ SATREPS Area – BCM หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
เรื่อง โดย พงศ์นรินทร์ สุขแจ่ม
ภาพ โดย Prof. Masahiro Inoue และ กุลชาติ ประทุมชัย