โครงการ SATREPS Area-BCM ประสบความสำเร็จในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระยะที่สอง ด้านการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจที่ Pinoneer Manufacturing Thailand

Browse By

พระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย – 12 ธันวาคม 2566 – โครงการ SATREPS Area-BCM ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ ระยะที่สอง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 โดยการประชุมจัดขึ้นที่ Pioneer Manufacturing (Thailand) Co., Ltd. (PTM)  สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ภายใน Pioneer Manufacturing (Thailand) ตลอดจนอาจารย์ นักวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ จากประเทศญี่ปุ่น และนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติ ควบคู่ไปกับการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจในพื้นที่ให้กับผู้เข้าร่วม ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ภายในจากแผนกต่าง ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วม จำนวน 26 ท่าน พร้อมด้วยผู้สังเกตการณ์ จำนวน 4 ท่าน ผู้เข้าร่วมจะถูกแบ่งเป็นห้ากลุ่มตามแผนกของตน ได้แก่ แผนก Production_GEMBA แผนกวิศวกรรมการผลิตและการประกันคุณภาพ แผนกห่วงโซ่อุปทาน แผนกด้านโครงสร้างพื้นฐาน และส่วนของสำนักงานใหญ่

การประชุมเริ่มต้นโดยนำโดยอาจารย์ เคนจิ วาตานาเบะ จากสถาบันเทคโนโลยีนาโกย่า อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าโครงการ SATREPS Area – BCM อาจารย์วาตานาเบะได้แนะนำความเป็นมาของโครงการและสรุปกิจกรรมที่วางแผนไว้สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ต่อจากนี้ อาจารย์อาคิระ โคดากะ จากมหาวิทยาลัยเคโอ ได้แนะนำสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากอุทกภัย โดยเฉพาะสถานการณ์ที่มีความเปราะบาง โดยให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้เข้าร่วมเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนการรับมือสถานการณ์และการอภิปรายภายในกลุ่มของตน

คุณชินโก ซูซูกิ จากสถาบันวิจัยแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์โลกและการฟื้นตัวจากภัยพิบัติ (NIED) ได้สาธิตเครื่องมือวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจโดยเน้นถึงความท้าทายของการบริหารเคลื่อนย้ายขนส่งสินค้าและพนักงานในสถานการณ์เปราะบาง ต่อมา คุณชิเกโอะ โอตานิ จากสถาบันวิจัยฟูจิตสึ (Fujitsu Research Institute) ได้นำเสนอปัจจัยสำคัญของการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ ซึ่งจุดประกายให้เกิดการอภิปรายภายในกลุ่มของตน นอกจากการอภิปราย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้แบ่งปันประสบการณ์และความคิดเห็นร่วมกัน

หลังจากที่อาจารย์วาตานาเบะได้กล่าวสรุปบทเรียนจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ คุณคัทสึมิ ซากุราอิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนียร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยคุณซากุราอิได้แสดงความขอบคุณผู้เข้าร่วมทุกท่านที่สนับสนุนการจัดการประชุม คุณซากุราอิได้กล่าวว่าการประชุมปฏิบัติการนี้นอกจากจะได้สร้างความท้าทายใหม่ ๆ แล้ว ก็ยังมีความจำเป็นที่สำคัญต่อการบริหารการจัดการวางแผนเพื่อรับมือกับความเสี่ยง อีกทั้งได้สะท้อนถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ว่าเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งนี้ คุณซากุราอิยังได้กล่าวถึงถึงสถานการณ์โลกในปัจจุบันโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความรู้ในการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจเพื่อสร้างความยืดหยุ่นต่อการรับมืออีกด้วย ท้ายที่สุดนี้ ทางไพโอเนียร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างการเตรียมพร้อมเพื่อที่จะรองรับสถานการณ์ความเสี่ยง ซึ่งสอดคล้องกับจุดประสงค์ของโครงการ SATREPS Area-BCM เพื่อรับมือกับการดำเนินงานความต่อเนื่องทางธุรกิจในอนาคต

โครงการ SATREPS DREAM (Area-BCM) เป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่างญี่ปุ่นและไทยภายใต้กรอบการทำงานเซนได เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะเปิดตัวแพลตฟอร์มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นตัวจากภัยพิบัติที่กลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศไทย และรับข้อมูลเพื่อเข้าสู่ ISO/TC292 ภายในปี 2566

เรื่อง โดย พงศ์นรินทร์ สุขแจ่ม
ภาพถ่าย โดย Prof. Masahiro Inoue และ กุลชาติ ประทุมชัย