วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัด “โครงการอบรมถ่ายทอดความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติในพื้นที่สำหรับผู้นำ (Training for Trainers on Disaster Prevention and Response Preparedness)” มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการความรู้ในการรับมือ การสื่อสารและรับรู้ข้อมูลภัยพิบัติ รวมถึงเสริมการส่งต่อความรู้ไปยังเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพให้กับอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อพปร.) และผู้นำชุมชน รวมทั้งหมด 40 ท่าน
สำหรับในงานนี้ได้รับเกียรติจากนายกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยากล่าวเปิดการอบรมเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันและรับมือภัยพิบัติ นายกฤษณ์ แก้วทองหลาง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยากล่าว วัตถุประสงค์ของการจัดการอบรมเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันและรับมือภัยพิบัติ และ รองศาสตราจารย์ ดร.รัตติยา ภูละออ รองคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของการอบรมเตรียมพร้อมเพื่อป้องกัน และรับมือภัยพิบัติ
โดยเนื้อหาในการอบรมครั้งนี้เน้นการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในพื้นที่ต่างๆ และการป้องกันสาธารณภัยที่จะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ โดยการอบรมแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ช่วงได้แก่การอบรมหัวข้อ “ภัยพิบัติรูปแบบต่าง ๆ และการพัฒนาศักยภาพชุมชน” โดยคณาจารย์และผู้ช่วยโครงการจาก วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รศ.ดร. รัตติยา ภูละออ อ.ดร.ทาดาชิ นากาสึ อ.ดร.จุฑาภรณ์ อัมระปาล และ นาย กุลชาติ ประทุมชัย ช่วงที่สอง การอบรมหัวข้อ “โครงสร้างพื้นฐานและการออกแบบเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ” โดยอาจารย์และผู้ช่วยโครงการจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ผศ.ดร. ชูศักดิ์ จันทร์ปฐมพงศ์ และนาย กรกฎ โพษิตลิมปกุล ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งนี้ ภายหลังจากการจัดงานอบรม ทางคณะผู้จัดจะดำเนินการพัฒนาคู่มือการอบรมเพื่อเป็นแหล่งข้อมูล และเอกสารประกอบการอบรมเพื่อการใช้ต่อไป
เรื่องโดย สยามรัฐออนไลน์ / 22 มีนาคม 2567
ภาพ โดย วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ