การประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมครั้งที่ 7 และสัมมนา Area-BCM ร่วมพัฒนาและต่อยอดความสำเร็จอย่างยั่งยืน

Browse By

กรุงเทพฯ ประเทศไทย – วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2567 โครงการการการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ SATREPS Area-BCM (DREAM) ได้จัดการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมครั้งที่ 7 (7th Joint Coordinating Committee: JCC ครั้งที่ 7) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งแบบเข้าร่วมในสถานที่และแบบออนไลน์จากทั้งประเทศไทยและญี่ปุ่นกว่า 70 คน รวมถึงอาจารย์ นักวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคี โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินรายการ

การประชุมเริ่มต้นด้วยคำกล่าวเปิดงานโดย ศาสตราจารย์ นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายซูซูกิ คาซุยะ ผู้แทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)

การนำเสนอสำคัญประกอบด้วย:

  • ภาพรวมโดยผู้วิจัยหลัก โดยศาสตราจารย์วาตานาเบะ เคนจิ จากสถาบันเทคโนโลยีนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น
  • การพัฒนาแบบจำลองน้ำท่วมสำหรับนิคมอุตสาหกรรม โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ และ ดร. มิยาโมโตะ มาโมรุ จาก The International Centre for Water Hazard and Risk Management (ICHARM)
  • การวิจัยชุมชน โดยรองศาสตราจารย์ ดร.รัตติยา ภู่ละออ จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • การวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ธารทัต โมกขมรรคกุล จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • การจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากการนำเสนอผลงานของแต่ละกลุ่มคณะทำงาน ได้มีการกล่าวเกริ่นนำแนวทางการดำเนินงานการการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่หลังจบโครงการ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ ซึ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงจากโครงการไปสู่โมเดลธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ

พิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อส่งมอบโครงการฯ ได้จัดขึ้น โดยมีผู้แทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีนาโกย่า และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ร่วมลงนาม

ในช่วงบ่ายเริ่มต้นด้วยการสัมมนาการการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ หรือ Area-BCM โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทย คำกล่าวเปิดงานโดยคุณคิตากาวา ยูกิ ผู้แทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และได้นำเสนอในหัวข้อ “การสนับสนุนของ JICA สำหรับการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติน้ำท่วมในประเทศไทย” โดยคุณฮิโรตะ ยูโกะ คุณฮิโรตะได้เสนอภาพรวมการสนับสนุนของ JICA ในประเทศไทยตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนความสำคัญจากการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 ด้วยเหตุนี้ โครงการ Area-BCM จึงเป็นหนึ่งในโครงการที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าวด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย จนประสบความสำเร็จ

ต่อมา ศาสตราจารย์ วาตานาเบะ เคนจิ หัวหน้านักวิจัยหลักของโครงการได้นำเสนอการพัฒนา Area-BCM ในประเทศไทยและผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จจากการทำงานของคณะทำงานกลุ่มต่าง ๆ

หลังการนำเสนอ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ และคุณคัมพล แสงทับทิม ได้นำเสนอบริษัท BCM Partners Thailand ซึ่งก่อตั้งขึ้นภายใต้การดำเนินงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมีเป้าหมายที่จะสานต่อการทำงานของโครงการ Area-BCM โดยบริษัทจะให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรมการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ การให้คำปรึกษา และบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ดร.กันต์ฤทัย มีช้าง จาก École Nationale Supérieure des Mines de Saint-Étienne ประเทศฝรั่งเศส ได้แบ่งปันประสบการณ์การเป็นนักวิจัยในโครงการ SATREPS Area-BCM ระหว่างการศึกษาที่ญี่ปุ่น และได้แสดงความขอบคุณต่อทุกท่านที่สนับสนุนโครงการนี้จนประสบความสำเร็จ

คำกล่าวปิดงานโดยศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร. สุพจน์ ได้แสดงความขอบคุณอย่างจริงใจต่อทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมต่อโครงการจนดำเนินมาถึงความสำเร็จ ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีส่วนสำคัญต่อโครงการตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สุพจน์ ยังได้แสดงความหวังต่อการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจในรูปแบบธุรกิจหลังจบโครงกาจะประสบความสำเร็จและได้รับความร่วมมือที่ดีจากภาคส่วนต่าง ๆ ในอนาคต

หลังจบงาน ผู้เข้าร่วมสามารถชมการสาธิตเครื่องมือโดย National Research Institute for Earth Science and Disaster Resilience (NIED) และผลงานการออกแบบเครื่องมือสำหรับการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจจากสมาชิกโครงการ

ทางโครงการฯ ขอขอบคุณทุกท่านที่สนับสนุนทั้งการดำเนินการจัดประชุมในครั้งนี้ ตลอดจนทุกกิจกรรมของโครงการเสมอมา กว่าหกปีตลอดเส้นทางการดำเนินโครงการ แม้ว่าจะมีอุปสรรคต่าง ๆ เกิดขึ้น แต่ความความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนทำให้โครงการฯ ดำเนินจนประสบความสำเร็จ 

เรื่อง: พงศ์นรินทร์ สุขแจ่ม
ภาพ: กุลชาติ ประทุมชัย